กระแสการใช้ “กัญชา” ตามกฎหมายที่อำนวยและเปิดช่องไฟเขียวอย่างถูกกฎหมาย กำลังเริ่มคึกคักและติดเป็นกระแสอย่างรวดเร็ว

ผู้บริโภคมองเห็นประโยชน์ต่อการใช้อดีตพืชยาเสพติดที่เอามาใช้ประโยชน์กับร่างกายได้ พ่อค้าเห็นช่องสร้างรายได้ด้วยการขายผลิตภัณฑ์กัญชา และเกษตรกรก็เห็นทางสว่างเช่นกันกับการใช้กัญชาเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่จะทำให้พวกเขามีรายได้มากขึ้น

แต่ภาครัฐ ก็มองเห็นประโยชน์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับการหาเม็ดเงินรายได้เข้ากระปุกออมสินของประเทศผ่านกลไกการตลาดจาก “กัญชา”

ประเด็นสำหรับกัญชาวันนี้ ที่อยากจะแจ้งให้กับเกษตรกรคนรุ่นใหม่ – รุ่นเก่า  และรุ่นเก่าที่หัวใจยังใหม่ตลอดเวลาได้รับทราบ หากจะเดินเส้นทางหารายได้จากพืชเศรษฐกิจอย่างกัญชา เพราะล่าสุดรัฐบาลเองก็เริ่มเห็นสัญญาณ และเตรียมศึกษา พร้อมกับปูทางไปสู่ความพร้อมกับการ “จัดเก็บภาษีกัญชา” กันแล้ว

ทิศทางล่าสุดกับการวางแผนจัดเก็บภาษีกัญชา อธิบดีกรมสรรพสามิต นายลวรณ แสงสนิท ออกมาเปิดเผยเมื่อก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา ระบุว่า ประเด็นการจัดเก็บภาษีกัญชานั้น ยังคงมีเวลาได้ศึกษากันอยู่ แต่ต้องรอดูว่ากัญชาสำหรับพาณิชย์จะเดินต่อไปได้ไกลแค่ไหน เพราะขณะนี้ยังเป็นเพียงอาหารปรุงสดจากผลิตภัณฑ์กัญชา รวมถึงเครื่องดื่มที่ทำและชงให้ดื่มเลย ซึ่งไม่อยู่ในเกณฑ์เสียภาษีสรรพสามิต

“กรมสรรพสามิตจะจัดเก็บภาษีกัญชาได้ ก็ต่อเมื่อมีการบรรจุลงขวด หรือกระป๋องแล้วจำหน่ายเท่านั้น ดังนั้น เรื่องภาษีกัญชา จึงต้องดูในรายละเอียดก่อน” นายลวรณ ย้ำถึงทิศทางภาษีกัญชา

สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีกัญชานั้น ที่ผ่านมาเคยมีการเสนอรัฐบาลให้พิจารณาไปบ้างแล้ว โดยในปี 2563 กรมสรรพสามิต โดยการนำของนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ในขณะนั้น โดยมีแนวทางที่ระบุว่าได้ศึกษาอัตราเทียบเคียงการจัดเก็บจากหลายๆ ประเทศ ที่มีการใช้กัญชาในเชิงพาณิชย์ อย่างถูกกฎหมาย เช่น สหรัฐอเมริกา มีการจัดเก็บภาษีกัญชา ทั้งรูปแบบ ของเหลว แบบผง และแบบแห้ง ในอัตราร้อยละ 15 ของมูลค่า และภาษีในเชิงปริมาณที่ 50 เหรียญต่อออนซ์ แต่ของไทยจะต้องปรับให้เหมาะสม สอดคล้อง ไม่ได้ใช้ในอัตราเดียวกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *