นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะลงพื้นที่ที่ศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนผ้าทอ สนองพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ร่วมกับกลุ่มทอผ้า ผู้ผลิตผู้ประกอบการโอท็อปในการขับเคลื่อนกระบวนการ “ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ” การสืบสาน “อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ตลอดทั้งเยี่ยมชมความก้าวหน้าการทอผ้าลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”สู่การพัฒนาภูมิปัญญาอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาพช.ได้สนับสนุนในการใช้พืชที่เป็นสีธรรมชาติเพื่อย้อมผ้าไหม และผ้าฝ้าย โดยแนะนำให้กลุ่มผู้ประกอบการทอผ้าไปศึกษาเรื่องการใช้สีธรรมชาติ จากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ว่าพืชชนิดใดบ้างที่จะสามารถนำมาดำเนินงานเกี่ยวกับการทำสีธรรมชาติกับกลุ่มทอผ้าได้ ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเริ่มตั้งแต่ เพาะเนื้อเยื่อ การปลูก การสกัด การย้อม การทอ และการตลาด มีศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพ.สธ. ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพันธุ์พืช พืชที่ให้สีต่างๆ โดยกรมการพัฒนาชุมชนจะส่งเสริมให้ทุกชุมชนปลูกพืชที่สามารถนำไปใช้ทำสีย้อมผ้าให้มากเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีวัตถุดิบทำสีย้อมผ้าย้อมไหมพอเพียง

ขณะเดียวกัน พช.ได้วางแนวทางการส่งเสริมสนับสนุน ให้ศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ เป็นศูนย์กลางเส้นไหมของประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ที่มีความชำนาญในการปลูกไหมเลี้ยงไหมและผู้ที่ความชำนาญในการทอผ้าไหม ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ให้เกิดการตกผลึกในเรื่องเส้นไหมไทย เพื่อที่ให้เกิดองค์ความรู้นวัตกรรมใหม่ๆ ในประเทศไทยต่อไป และที่สำคัญที่สุดคือเป็นศูนย์กลางในการวบรวมเส้นไหมของกลุ่มทอผ้าตามข้อเสนอของผู้แทนกลุ่ม OTOP ด้านผ้า 4 ภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังต้องการที่จะสนองพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ที่จะทำเรื่องไหม โดยจะส่งเสริม สนุบสนุน ให้ผู้ที่ถนัดเรื่องการเลี้ยงไหมให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สร้างรายได้ในชุมชนให้มากขึ้น ส่วนผู้ที่ถนัดเรื่องการทอผ้าก็ให้เน้นด้านงานทอผ้า เพื่อคนทั้ง 2 ฝั่งได้เดินหน้าขับเคลื่อนไปด้วยกันและมีรายได้มากขึ้นทั้ง 2 ฝั่ง






