น่าน – การยางแห่งประเทศไทย หนุน “น่าน” นำร่องภาคเหนือ  เดินหน้าโครงการชะลอการซื้อขายยางและรณรงค์ขายยางก้อนแห้ง เพื่อแก้สารพัดปัญหาสิ่งแวดล้อม  และยังได้ราคาดี

นางสาวอรอนงค์ อารินวงศ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)    พร้อมด้วย นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านธุรกิจและปฏิบัติการ  เป็นประธานในการประชุมโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเขต   ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพการผลิต และควบคุมไม่ให้ปริมาณยางพาราออกสู่ตลาด  โดยสนับสนุนเงินทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ในการเก็บรักษายางพาราไว้รอขายในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ลดความผันผวนราคายางให้มีเสถียรภาพมากขึ้น  อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาน้ำยางหกเลอะถนนและผิวจราจรระหว่างการขนส่ง  ทำให้ถนนลื่นเกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย 

โดยมี นายสไว นารีพล ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคเหนือ  นายอนิรุทธิ์ สังยวน ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดน่าน และผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยทุกจังหวัดของภาคเหนือ  คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท.ระดับเขตภาคเหนือ  ตัวแทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเขตภาคเหนือ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดน่าน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมวัดสวนตาล อำเภอเมือง จังหวัดน่าน   ก่อนลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อแลกเปลี่ยน แนะนำและเสนอแนะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับเกษตรกร ณ สวนยางพารา บ้านน้ำใส ต.ฝายแก้ว อ.ภูเพียง จ.น่าน

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านธุรกิจและปฏิบัติการ กล่าวว่า  สถานการณ์ราคายางพาราพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ  ทั้งนี้มีปัจจัยจากเศรษฐกิจของประเทศจีนที่เริ่มดีขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มกลับมาผลิต อีกส่วนหนึ่งคือสถานการณ์โรคโควิด-19  ทำให้การใช้ชีวิตของประชาชนทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพ โรงงานผลิตถุงมือยางมีการขยายตัว เป็นปัจจัยช่วยทำให้ยางพารา มีราคาขยับสูงขึ้น  สำหรับโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเขตภาคเหนือ  โดยจังหวัดน่านเป็นพื้นที่นำร่องโครงการ ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม2563 ไปจนถึงเดือนกรกฏาคม 2564  เป็นโครงการที่เข้ามาหนุนเสริมให้เกษตรกรมีกำลังต่อรองกับผู้ประกอบการ  จากที่ ในอดีตเมื่อนำยางไปขายที่ตลาด ราคาเท่าไหร่ก็ต้องขาย ต่อไปนี้หากราคายางไม่เป็นที่พอใจ และยังไม่อยากขาย  เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถนำเงินไปใช้ก่อน 80 เปอร์เซ็นต์  แต่เก็บรักษายางไว้ที่สวน เพื่อรอขายในช่วงเวลาที่เหมาะสม   เป็นโครงการที่ตอบสนองตรงต่อความต้องการของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางในเขตภาคเหนือซึ่งส่วนใหญ่ขายผลผลิตในรูปยางก้อนถ้วย 

นอกจากนี้การยางแห่งประเทศไทยมีเงินอุดหนุนให้สำหรับสถาบันเกษตรกร ในการปรับปรุงสวนยางหรือสถานที่เก็บยางก้นถ้วยของเกษตรกรให้ได้มาตรฐานอีกด้วย ด้าน นางสาวอรอนงค์ อารินวงศ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย  กล่าวเพิ่มเติมว่า   การทำยางถ้วยแห้ง  ซึ่งนอกจากจะสามารถเก็บไว้รอขายในช่วงเวลาที่เหมาะสม ได้ราคาดีแล้ว  ยังช่วยลดปัญหากลิ่นเหม็น และน้ำยางหกเลอะบนถนนและผิวจราจรระหว่างขนส่ง  ซึ่งทำให้ถนนลื่น และเกิดอุบัติเหตุอย่างที่ผ่านมาได้ดีอีกด้วย  โดยเกษตรกรกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของจังหวัดน่าน  มีความสนใจการทำยางก้อนแห้ง  เชื่อมั่นว่าปัญหาเรื่องอุบัติเหตุและมลภาวะสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำยางจะหมดไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *