
ในปัจจุบันกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในหลายพื้นที่ของ จ.เชียงราย ต่างหันมาใช้หญ้าเพื่อเลี้ยงปลาแทนการใช้หัวอาหารและอาหารปลาที่วางจำหน่ายตามร้านกันอย่างแพร่หลาย โดยชาวบ้านมีทั้งปลูกและซื้อขายหญ้าดังกล่าวด้วยกันเองจากนั้นนำหญ้ามาบดปั่นแล้วผสมกับส่วนผสมอื่นๆ หรือบางครั้งนำหญ้าทั้งต้นและใบวางซ้อนในบ่อปลาสลับกับมูลวัวก็พบว่าปลาต่างเข้าไปตอดกินหญ้าดังกล่าว ซึ่งวิธีการดังกล่าวช่วยให้ต้นทุนลดต่ำลงอย่างฮวบฮาบและการนำหญ้ามาเลี้ยงปลาก็กลายเป็นเรื่องปกติและหญ้าก็กลายอาหารหลักของกลุ่มผู้เลี้ยงปลาใน จ.เชียงราย ไปในที่สุด
ล่าสุดนายอมร พุทธสัมมา ประมง จ.เชียงราย ได้นำงบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เข้าไปสนับสนุนชาวบ้านหลายกลุ่มในการนำหญ้ามาเลี้ยงปลาเพื่อลดต้นทุน โดยมีการเปิดโรงเรียนเลี้ยงปลาแบบลดต้นทุนประชารัฐเชียงราย ส่งเสริมการปลูกหญ้าในพื้นที่เพื่อเลี้ยงบ่อปลาอย่างเพียงพอ เพราะ จ.เชียงราย มีผู้เลี้ยงสัตว์น้ำรวมกันกว่า 14,097 ราย เนื้อที่เลี้ยงรวมกัน 15,092 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นปลานิล 9,503 ราย ปลาดุก 2,106 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.เชียงแสน อ.พาน โดยเฉพาะ อ.พาน มีผู้เลี้ยง 1,063 ราย เนื้อที่เลี้ยง 2,377.92 ไร่ อ.เชียงแสน 745 ราย เนื้อที่ 2,490.76 ไร่ ฯลฯ
นายอมร กล่าวว่าหญ้าที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงปลาดังกล่าวคือ “เนเปียร์ ปากช่อง 1” ซึ่งตนได้คิดสูตรเพื่อให้นำมาเลี้ยงปลาได้ด้วยสูตร 6:4:1 คือหญ้า 6 ส่วน รำข้าว 4 ส่วนและหัวอาหาร 1 ส่วน เมื่อนำมาบดผสมกันเป็นอาหารพบว่าปลากินดีมากและช่วยลดต้นทุนค่าซื้ออาหารเลี้ยงปลาที่วางจำหน่ายในตลาดทั่วไปเฉลี่ยกิโลกรัมละ 26 บาท แต่ถ้าเลี้ยงด้วยหญ้านี้จะเหลือเพียงกิโลกรัมละ 6 บาท นอกจากนี้ยังสามารถนำหญ้าเนเปียร์ ปากช่อง 1 มาวางในบ่อปลาเป็นชั้นๆ เรียกกันจนคุ้นเคยว่า “ขนมชั้น” โดยใช้หญ้า 80 กิโลกรัม 3 ชั้น และมูลวัว 40 กิโลกรัม 2 ชั้น ใส่สลับกันไปในคอกไม้ไผ่ขนาด 2 คูณ 4 เมตร ใช้ไร่ละ 1 คอกก็จะทำให้ปลาสามารถกินเป็นอาหารได้ตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ทำให้เกิดไรแดงและหนอนแดงที่เรียกหอยและกุ้งในบ่อปลาเพิ่มเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้นอกเหนือจากขายปลาอย่างเดียวได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
“ผลพลอยได้จากการให้อาหารด้วยหญ้าและทำคอกหญ้าดังกล่าวนอกเหนือจากขายสัตว์น้ำคือทำให้น้ำไม่เน่าเสีย แตกต่างจากการให้อาหารปลาทั่วไปที่มักประสบปัญหานี้ โดยน้ำที่เลี้ยงด้วยหญ้าจะมีสีเขียวอ่อนๆ ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ปลาที่เก็บได้ยังเหมือนปลาธรรมชาติไม่มีกลิ่นเหม็นเมื่อนำมาปรุงอาหารก็ไม่มีกลิ่นแตกต่างจากปลาเลี้ยงทั่วไปอีกด้วย” นายอมร กล่าวและว่าปัจจุบันกำลังส่งเสริมเพื่อให้เกษตรกรทราบถึงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องแล้ว
ด้านนายจำเริญ ปันดอน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โยนก อ.เชียงแสน และประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปลาด้วยหญ้าเนเปียร์ปลาช่อง 1 กล่าวว่าพื้นที่มีจำนวน 8 หมู่บ้านประชากร 4,900 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเลี้ยงปลานิลขายแต่ปรากฎว่าที่ผ่านมาชาวบ้านเสียค่าต้นทุนไปกับค่าซื้ออาหารเมื่อรวมกับต้นทุนอื่นๆ ก็แทบไม่ได้อะไรเลยทำให้ชาวบ้านเกือบเอาตัวไม่รอด แต่เมื่อหันมาใช้หญ้าและได้รับการสนับสนุนจากโครงการในการจัดซื้อเครื่องโม่และผสมหญ้ากับส่วนผสมต่างๆ ตามสูตร 6:4:1 ณ สถานที่สาธารณะบ้านทุ่งฟ้าฮ่าม ต.โยนก ทำให้ชาวบ้านนำหญ้าที่ปลูกไปทำเป็นอาหารสัตว์กันทุกวันสามารถลดต้นทุนได้มาก หากไม่มีโครงการนี้เกษตรกรคงอยู่ไม่ได้เพราะปัจจุบันราคาปลานิลตกต่ำแต่เมื่อต้นทุนต่ำตามเราก็สามารถอยู่ได้ นอกจากนี้หญ้าที่ใช้ปลูกเลี้ยงปลายังปลูกง่ายโดยปลูกได้ 30-45 วันก็สามารถตัดมาใช้ได้ ปลูกครั้งเดียวออกหน่อต้นได้นานถึง 7 ปี
นางชฎาพร ออนเขียว ชาวบ้านร่องบง ต.โยนก กล่าวว่าตนเลี้ยงปลานิลบนเนื้อที่ 8 ไร่ ปกติะซื้ออาหารเลี้ยงปลามาใช้ครั้งละ 21 กระสอบๆ ละ 20 กิโลกรัม ต้องเสียเงินค่าซื้อกระสอบละ 300-500 บาท ทำให้ครั้งหนึ่งต้องซื้ออาหารปลาไม่น้อยกว่า 6,000-10,000 บาท แต่ปัจจุบันตนปลูกหญ้าเองและขนไปโม่และผสมที่โครงการทำให้มีต้นทุนครั้งละเพียง 1,350 บาท หรือถ้าหญ้าขาดแคลนก็หาซื้อกิโลกรัมละเพียง 1.50 บาท จึงขอบคุณโครงการมากที่ช่วยให้ตนลดต้นทุนลงได้อย่างมากหากไม่มีโครงการนี้ก็ไม่รู้จะอยู่ได้อย่างไร
ด้านนายสุรชัย วตะผาบ เจ้าของบ่อ “วังปลาคราฟ” บ้านปงอ้อ ต.แม่จัน อ.แม่จัน กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการเลี้ยงปลาคือต้นทุนโดยตนเลี้ยงปลาชนิดต่างๆ ทั้งปลานิล ปลาดุก ปลาคราฟ ฯลฯ และจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาด้วยซึ่งเดิมต้องซื้ออาหารแพงมากกระสอบละกว่า 500 บาท ซื้อมาครั้งละ 10 กระสอบก็มากถึง 5,000 บาททำให้พวกเราเกือบอยู่ไม่ได้แล้ว ปัจจุบันจึงดีใจมากที่สำนักงานประมง จ.เชียงราย ส่งเสริมการใช้หญ้ามาเลี้ยงปลาทำให้ต้นทุนต่ำ แต่คุณภาพดีปลาเติบโตดีและน้ำก็ไม่เสียทำให้สามารถอยู่รอดได้
นายคะนอง จิตวนา เจ้าของบ่อรุ่งโรจน์ฟาร์ม บ้านห้วยน้ำราก ต.จันจว้า อ.แม่จัน กล่าวว่าเนื่องจากตนเลี้ยงปลาบนเนื้อที่กว่า 23 ไร่และมีหลายบ่อทำให้ต้องใช้อาหารปลาวันละประมาณ 20 กระสอบหรือประมาณ 500 กิโลกรัม ซึ่งต้นทุนในอดีตแทบไม่ต้องพูดถึงเพราะทำให้เกือบเลิกกิจการเนื่องจากประสบภาวะต้นทุนเกินรายรับโดยมีอยู่ครั้งหนึ่งเคยคำนวนว่าใช้ต้นทุนไปประมาณ 400,000 บาท กว่า 80% คือค่าอาหารและเมื่อนำปลาขึ้นมาขายแล้วก็ปรากฎว่าต้องขาดทุนไปกว่า 150,000 บาท โชคดีที่ทางสำนักงานประมง จ.เชียงราย แนะนำเรื่องการใช้หญ้ามาเลี้ยงปลาตนจึงประสานกับกลุ่มเลี้ยงโคขอซื้อหญ้าของเขามาปั่นและผสมทำเป็นอาหารเอง ปัจจุบันยังเริ่มปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ตามบริเวณใกล้เคียงกับบ่อปลาแล้วทำให้ต้นทุนลดลงและสามารถอยู่ได้แล้ว
การนำหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 มาเลี้ยงปลาดังกล่าวได้กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยปรากฎให้เห็นที่ไหนมาก่อน เพราะเดิมรู้จักกันแต่เพียงการนำหญ้าชนิดนี้ไปเลี้ยงสัตว์ประเภทโค กระบือ ฯลฯ แต่จากการศึกษาทางวิชาการของสำนักงานประมง จ.เชียงราย และการสนับสนุนของ จ.เชียงราย โดยกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้ทำให้ชาวประมงน้ำจืดที่ จ.เชียงราย สามารถลืมตาอ้าปากได้จากภาวะต้นทุนแพงและยังได้ปลาคุณภาพดีไม่มีกลิ่นเหม็นหรือคาวของปลาเลี้ยง จึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสมควรอย่างยิ่งที่จะนำไปขยายผลเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ และทั่วประเทศต่อไปโดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ทางธุรกิจกับกลุ่มทุนใหญ่ๆ อีกต่อไป.