ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาด ASF ที่ทำให้อุตสาหกรรมกรรมหมูของไทยสั่นคลอนมาตลอด 2-3 ปี และเป็นผลให้ “จำนวนหมู” หายไปจากระบบนับล้านตัว รวมถึง “เกษตรกร” ที่ตัดสินใจชะลอการเลี้ยงหรือเลิกอาชีพไปอีกนับแสนราย กระทบถึงปริมาณหมูในประเทศที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค และทำให้ระดับราคาหมูขยับสูงขึ้นตามกลไกตลาด
Group of pig that looks healthy in local ASEAN pig farm at livestock. The concept of standardized and clean farming without local diseases or conditions that affect pig growth or fecundity
หนทางที่จะทำให้ราคาหมูขยับเข้าสู่สมดุล เป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้และผู้บริโภคไม่เดือดร้อน ก็คือการเพิ่มปริมาณหมูเข้าสู่ระบบให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค โดยผู้ที่ทำหน้าที่เพิ่มปริมาณหมูก็คือ “เกษตรกร” ซึ่งแน่นอนว่าต้องมี “ปัจจัยเกื้อหนุน” จากทุกภาคส่วน เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรกล้าที่จะลงหมูเข้าเลี้ยงและกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง
อันดับแรกต้องลดความกังวลของเกษตรกร ความกังวลที่สุดของคนเลี้ยงหมูในช่วงนี้ก็คือปัญหา “หมูเถื่อน” ที่กำลังเข้ามาเบียดเบียนตลาดของเกษตรกร ทั้งๆที่ผลผลิตหมูไทยไม่เพียงพอแต่ตลาดกลับเคลื่อนไหวช้า แสดงว่ามีปริมาณหมูต่างถิ่นที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายปะปนอยู่ในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ เกษตรกรย่อมไม่กล้าลงหมูเข้าเลี้ยง หรือที่ลงเลี้ยงแล้วก็ต้องเผชิญความเสี่ยงกับระดับราคาที่อาจขายได้ไม่คุ้มทุน เพราะหมูเถื่อนขายแย่งตลาดในราคาถูกกว่าหมูไทยมาก รวมถึงยังอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทย เนื่องจากหมูเถื่อนที่เข้ามาเป็นหมูด้อยคุณภาพ ไม่ผ่านการตรวจโรค บางชิ้นส่วนยังพบเชื้อราด้วยซ้ำ
ในขณะที่เกษตรกรทุกคนต้องลงทุนในการป้องกันโรคระบาดสัตว์อย่างเข้มข้น “หมูเถื่อน” กลับเป็นหมูที่ส่งมาจากประเทศต้นทางที่กำลังมี ASF ระบาด เชื้อโรคนี้คงทนในสภาพแวดล้อมได้นานนับปี ไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา เป็นความเสี่ยงของเกษตรกรอย่างยิ่งที่อาจเจอโรคระบาดซ้ำสอง ลำพังความเสี่ยง 2 เรื่องนี้ก็ถือเป็นหายนะของคนเลี้ยงหมูแล้ว ยังไม่นับต้นทุนการเลี้ยงที่สูงกว่าในอดีต ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ พันธุ์สัตว์ที่หายาก เนื่องจากแม่พันธุ์เสียหายไปเยอะ ค่าพลังงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ เมื่อผนวกต้นทุนทั้งหมดเข้ากับความเสี่ยงที่ว่าก็แทบไม่มีเกษตรกรคนไหนอยากเริ่มต้นเลี้ยงหมูแล้ว
กล่าวได้ว่า ปัจจัยเกื้อหนุนเกษตรกรที่สำคัญที่สุดประการแรกก็คือการขจัด “ขบวนการหมูเถื่อน” ให้หมดไป ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งกรมปศุสัตว์ และกรมศุลกากร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมั่นใจในการเร่งเพิ่มผลผลิตหมูยิ่งขึ้น
ปัจจัยต่อมาคือ ความมั่นใจในการขายผลผลิตได้ในราคาที่มีกำไร ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผู้ประกอบอาชีพทุกอาชีพ ที่ต้องการมีรายได้เลี้ยงตัวและครอบครัว หากรัฐสามารถส่งเสริมสนับสนุนให้ต้นทุนการผลิตลดลง สถาบันการเงินมีการเปิดให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร ส่งเสริมภาคการเกษตรที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ตลอดจนยกระดับการเลี้ยงหมูทั่วประเทศให้เป็น “ฟาร์มมาตรฐาน” เพื่อป้องกันความเสียหายให้เกษตรกรเองและสร้างอาหารปลอดภัยให้คนไทย เหล่านี้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ก่อประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกรและต่อผู้บริโภค นอกเหนือจากการที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคต่างๆ ทยอยให้ความรู้เกษตรกร เพื่อเตรียมความพร้อมกลับสู่อาชีพ ซึ่งนับเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจที่ดีอีกทางหนึ่ง
นาทีนี้การเกื้อหนุนเกษตรกรไทย โดยภาครัฐ “กำจัดหมูเถื่อนให้หมดไป” และผู้บริโภค “งดซื้อหรือสนับสนุนหมูเถื่อน” คงเป็นประเด็นสำคัญสุดที่จะทำให้เกษตรกรมีแรงเลี้ยงหมู และเพิ่มผลผลิตเนื้อหมูปลอดภัยให้ผู้บริโภคได้ตามเป้าหมายที่ภาครัฐตั้งไว้
สามารถ สิริรัมย์