วิธีปลูกก้ัญชา

กัญชา พืชที่กำลังได้รับความสนใจสูงสุดหลังรัฐบาลปลดล็อกให้ปลูกเพื่อทางการแพทย์ แต่การจะปลูกกัญชาให้มีคุณภาพเพื่อการแพทย์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้มหาวิทยาลัยสุรนารี (มทส.) เปิดศูนย์เรียนรู้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ นำไปเป็นประโยชน์ในการปลุกกัญชาเชิงพาณิชย์ ต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. บอกว่า จากการที่มทส.ได้มีการทดลองปลูกกัญชา พร้อมทั้งคิดค้นโรงเรือนปลูกกัญชามาตรฐานสากลมาระยะหนึ่ง ล่าสุดได้ใช้โรงเรือนดังกล่าว เป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ ตลอดทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ ที่สนใจจะปลูกกัญชา เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์

สำหรับโรงเรือนเพาะชำต้นกล้ากัญชาของมทส. แต่ละโรงเรือนมีขนาด 5 x 100 เมตร มีทั้งหมด 2 โรงเรือน รวมพื้นที่ 3,090 ตารางเมตร ซึ่งเป็นโรงเรือนระบบปิด วางระบบน้ำหยด พร้อมระบบระบายอากาศ โดยถูกออกแบบตามหลักวิชาการตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เหมาะกับการเพาะกล้า การเตรียมดิน การปลูก การเก็บผลผลิตกัญชา และการจัดทำรายงานผล ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรัดกุม ภายใต้ข้อกำหนดที่ระบุปลูก พร้อมมีระบบความลอดภัยทุกขั้นตอน

ทั้งนี้มทส. พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกและการทำโรงเรือนให้ผู้สนใจ โดยเฉพาะโรงเรือนถือว่ามีความจำเป็นมาก แต่การลงทุนค่อนข้างสูง แต่โรงเรียนของมทส.ราคาแค่หลักแสนบาทต้นๆ เท่านั้น

อธิการบดี มทส. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามทส. ได้ปลูกกัญชาสาย“เมล็ดพันธุ์ “ฝอยทองภูผายล” ที่นำมาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร โดยเบื้องต้น เพาะเป็นต้นกล้ากัญชา จำนวน 5,760  ต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ทำการคัดแยกต้นกล้ากัญชา รุ่นแรกเมื่อในวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 และเมื่อต้นกล้ามีอายุ 20-30 วัน ความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ก็จะทำการคัดเลือก เพื่อไปปลูกภายในโรงเรือน

โดย 1 โรง แบ่งเป็นปลูกในกระถาง 1,500 กระถาง และปลูกแบบลงดิน 1,860 ต้น รวมจำนวน 3,360 ต้นต่อรอบการผลิต ส่วนต้นกล้าที่เหลือจะเก็บไว้เพื่อซ่อมต้นที่ไม่สมบูรณ์จนกว่าจะครบจำนวนที่ต้องการ

สำหรับผลผลิตจะได้กัญชาสด จำนวน 2,000 กิโลกรัม  ซึ่งทุกขั้นตอนจะต้องใช้ทักษะและประสบการณ์อย่างสูง โดยเฉพาะการคัดแยกเพศ เนื่องจากต้นกัญชาเป็นพืชที่มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย เมื่อถึงระยะออกดอก จะต้องคัดเพศผู้ทิ้ง ทำลายด้วยการเผาในโรงเผาขยะชีวมวล และการเคลื่อนย้ายและทำลายกัญชาที่เหลือจากกระบวนการผลิตต่างๆ  จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบฯ อย่างใกล้ชิด

ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิต แบ่งออกเป็น 2 รอบ โดยช่วงเดือนกรกฎาคมจะเก็บใบรอบที่ 1 เดือนสิงหาคมจะเก็บดอก รอบที่ 1   ส่วนรอบที่ 2 เก็บใบเดือนตุลาคม  และ เก็บดอก เดือนพฤศจิกายน 

ก่อนเก็บเกี่ยวในช่วงต้นกัญชาติดเมล็ด จะต้องประสานให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา เป็นผู้วิเคราะห์สารตกค้างก่อนก่อนการเก็บเกี่ยว ทั้ง 5 ส่วน คือ ราก ลําต้น ใบ ดอก และเมล็ด เพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพถูกต้องตามมาตราฐาน ก่อนส่งมอบเป็นกัญชาแห้งปริมาณ 150 กิโลกรัม ให้แก่โรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โรงพยาบาลเครือข่ายกรมการแพทย์แผนไทย เป็นผู้ผลิตยาสมุนไพรแผนไทย จํานวน 9 ตํารับ คือ

ตำรับศุขไสยาศน์  ตำรับทำลายพระสุเมรุ ตำรับยาทาริดสีดวงทวารและโรคผิวหนัง ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น ตำรับยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง ตำรับยาแก้ลมเนาวนารีวาโย ตำรับยาไพสาลี ตำรับยาอไภยสาลี  และตำรับยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไขผอมเหลือง    

5 ขั้นตอนควรรู้ก่อนปลูกกัญชาเพื่อเชิงพาณิชย์

1.เลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิ

สายพันธุ์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิได้ หากปลูกกลางแจ้งก็ควรเลือกสายพันธุ์ที่ทนทานต่ออุณหภูมิที่สูงกว่าปลูกในโรงเรือน

2.เลือกสถานที่ที่ดีที่สุด

ต้องพิจารณาว่าจะปลูกกัญชาลงดิน ในโรงเรือน หรือแบบไฮโดรโปนิกส์ โดยคำนึงถึงปัจจัยสภาพแวดล้อมได้แก่ แสง ลม  อุณหภูมิน้ำฝน แมลง หากปลูกกลางแจ้งควรเป็นสถานที่ที่มีระบบการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม

3.เลือกดินที่ระบายน้ำได้ดีและอุ้มน้ำได้ดีพอเหมาะ

ส่วนประกอบของดินเพื่อที่จะปรับเปลี่ยนการเลือกใช้ให้เข้ากับสายพันธุ์ที่เลือกปลูก ซึ่งเนื้อดินปลูกกัญชาควรร่วนซุย ระบายน้ำได้ดีไม่ทำให้เกิดน้ำขังอยู่ด้านบนของดิน อุ้มน้ำได้ดีพอเหมาะ คือทำให้ดินเปียกแต่ไม่เป็นโคลน

4.เลือกปุ๋ยที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูง

ต้นกัญชาต้องการคุณค่าทางสารอาหารสูง ซึ่งก็คือธาตุอาหารหลักของพืชอย่างฟอสฟอรัส ไนโตรเจนและโพแทสเซียม ธาตุอาหารพืชเหล่านี้สามารถผสมในน้ำและรดใส่ต้นแต่ไม่ควรรดมากจนเกินไป

5.เรียนรู้ขั้นตอนการดูแลระหว่างการปลูก

การรดน้ำกัญชาต้องทำให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม เช่นอากาศร้อนแห้ง อากาศร้อนชื้น อากาศเย็นชื้นและฝนตกในพื้นที่ ส่วนการจัดทรงและตัดแต่งต้นกัญชาก็ควรทำเป็นประจำเพื่อความสวยงามและทำให้ใบได้รับแสงอย่างทั่วถึง

ทุกวันนี้ถนนทุกสายต่างมุ่งหน้าขอไลเซนส์ปลูกกัญชาพัฒนาต่อยอดนำไปแปรรูปเป็นยาสมุนไพรไทย แปรรูปเมนูอาหารรสเด็ดและเครื่องดื่มสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *