มองทิศทางตลาดกัญชงโลก หลังจากที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกมาระบุว่า มูลค่ากัญชงโลกจะทยานไปได้ถึง 5 แสนล้านบาทในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า ถึงวันนั้นประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนของส่วนแบ่งตลาด “กัญชง”
ทิศทางของ “กัญชง” ที่หลายคนมองว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับวงจรธุรกิจการเกษตรในทุกระบบ ตั้งแต่เกษตรกร คนแปรรูป คนจัดจำหน่าย เพราะด้วยผลวิจัยระบุไปในทิศทางเดียวกันว่าประโยชน์ของกัญชงเพื่อสุขภาพ มีอยู่ในพืชชนิดนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว
บวกกับกระแสกัญชากำลังมาแรง กัญชงก็เหมือนจะตีคู่ขึ้นมาติดๆ เพราะหน่วยงานภาครัฐที่ออกมาระบุว่าภาคอุตสาหกรรมกำลังมีความต้องการพืชกัญชง และตัวเลขรายได้ที่เกษตรกรจะได้รับก็มากเป็นเงาตามตัว สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่หอมหวานสำหรับการหารายได้เพิ่มขึ้นจากกัญชง
แต่อีกมุมจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเรื่องนี้ต่างออกไป ด้วยว่าการดันกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย และมันยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัยด้วย
บทวิเคราะห์ชิ้นนี้สะท้อนถึงตลาดกัญชงในปัจจุบันและอนาคตอย่างน่าสนใจ ซึ่งสามารถข้อกังวลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ ดังนี้
เงินลงทุน และความเร็วของโอกาส คืนทุน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รายได้จากช่อดอกกัญชงจากการปลูกแบบระบบเปิด (Outdoor) ที่ให้ผลผลิตช่อดอกกัญชงแห้งราว 20-40 กิโลกรัมต่อไร่ อาจจะอยู่ที่ราว 0.2-1.0 ล้านบาทต่อไร่
เห็นได้ว่ามีราคาที่รับซื้อสูง เพราะผลผลิตยังจำกัด แต่ทว่าในเรื่องของต้นทุนการปลูกกัญชง จะตกอยู่ราวๆ 0.3-1.5 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งสะท้อนความเป็นไปได้ว่าการปลูกกัญชงจะคืนทุนให้กับผู้ลงทุนในระยะเวลาประมาณ 4-5 ปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ภาพอีกว่า สำหรับการปลูกเพื่อเส้นใยกัญชงนั้น แม้ราคารับซื้อจะถูกกว่าช่อดอกแต่ผลผลิตที่ได้จะมากกว่า ทำให้รายได้ ต้นทุน และระยะเวลาคืนทุน อาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก
อย่างไรก็ดี หากผู้ลงทุนสามารถยกระดับการปลูกกัญชงแบบระบบปิด (Indoor) ได้ แม้เงินลงทุนจะสูงกว่าระบบเปิด แต่ผลผลิตช่อดอกที่ได้จะมีราคาที่สูงกว่า เช่น Medical Grade จะทำให้มีโอกาสคืนทุนเร็วกว่าได้เช่นกัน
เปิดตลาดเสรี มีโอกาสส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนกัญชงเมืองไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฉายภาพว่า อนาคตเมื่อมีผู้ลงทุนปลูกกัญชงมากขึ้น อุปทานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่กดดันราคาผลผลิตกัญชงให้มีแนวโน้มไม่สามารถยืนระดับสูงไปได้ตลอดเช่นในช่วงที่ผ่านมา และหากว่าภาครัฐเปิดให้มีการนำเข้าวัตถุดิบ หรือสารสกัดกัญชงจากต่างประเทศได้ในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ลงทุนปลูกกัญชงที่จะต้องลดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ภาพรวมของตลาดกัญชงในตลาดโลกของปี 2563 มีมูลค่า 4,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.42 แสนล้านบาท) และมีโอกาสทยานไปถึง 18,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (5.58 แสนล้านบาท) ในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 22.4 %
แต่สำหรับในประเทศไทย ในตลาดจะต้องการคุณภาพที่ดีของพืชกัญชง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพและราคา และถึงแม้ว่าในอนาคตหากมีการเปิดเสรีนำเข้าวัตถุดิบกัญชง หากกัญชงของไทยที่มีคุณภาพดี ราคาไม่สูงเกินไป ก็สามารถแข่งขันในตลาดเสรีได้อย่างแน่นอน