ก.เกษตรลุยแก้ปัญหา โรคลัมปี สกิน หลังอุบัติใหม่สดๆ ร้อนๆ กระทบคนเลี้ยงวัว-ควาย เร่งฉีดยาฆ่าเชื้้อบรรเทาความเดือดร้อน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีส่งมอบวัคซีน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี สกิน พร้อมด้วยนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมทั้งปล่อยขบวนรถขนส่งวัคซีนลัมปี สกิล และทีมสัตวแพทย์ออกปฏิบัติงานฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคลัมปี สกินซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ได้เกิดการระบาดในพื้นที่หลายจังหวัด สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือเป็นอย่างมาก กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ จึงได้ดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมโรค โดยให้เข้มงวดเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยเฉพาะการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ตามแนวชายแดนทุกแห่ง นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเกษตรกร โดยการพ่นยาฆ่าเชื้อ พ่นสารกำจัดแมลงให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากโรคลัมปีสกิน พร้อมทั้งเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน จำนวน 60,000 โด๊ส และกระจายไปปศุสัตว์จังหวัด พร้อมเวชภัณฑ์ยาและหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือตามความต้องการของเกษตรกรต่อไป

“สำหรับวัคซีน LSDV ล๊อตแรกจำนวน 60,000 โดสที่ได้รับในวันนี้ จะนำไปฉีดให้กับโค-กระบือของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นหลักก่อน โดยต้องฉีดรอบจุดเกิดโรคเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคออกจากจุดเกิดโรคให้เป็นไปตามหลักวิชาการ และดำเนินการโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีกจำนวน 300,000 โดส เพื่อให้เพียงพอและสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศไทย ที่สำคัญต้องขอฝากเรียนถึงพี่น้องเกษตรกรทุกคนที่กำลังประสบความเดือดร้อนว่า การฉีดวัคซีนโรคลัมปี สกินให้กับโค-กระบือนี้ เป็นมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โค-กระบือทุกตัวในพื้นที่การระบาด จะได้รับการฉีดให้ฟรี ดังนั้นหากพบการเรียกร้องค่าใช้จ่าย จะดำเนินการจัดการด้วยมาตรการขั้นเด็ดขาด” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

ด้าน นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์ของโรคลัมปี สกิน อย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันได้ข้อสรุปของโรคแล้ว จึงขอรับรองว่าโรคดังกล่าว สามารถรักษาหาย เนื้อทานได้ และไม่ติดต่อถึงคน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางมาตรการป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกินแล้ว ขอให้เกษตรกรอย่าวิตกกังวล ให้ติดตามข้อมูลจากเจ้าที่ปศุสัตว์เป็นหลัก โดยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จะลงพื้นที่เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรต่อไป

ทั้งนี้ หากเกษตรกรต้องการความช่วยเหลือเบื้องต้น หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคลัมปี สกิน สามารถติดต่อได้ที่หน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่ของท่าน หรือติดต่อสำนักควบคุมโรค ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สบค.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนแจ้งโรคระบาดกรมปศุสัตว์ โทร 063 – 225 – 6888 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” ได้ตลอดเวลา และสามารถติดตามสถานการณ์การระบาดและศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคลัมปี สกิน ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักควบคุม ป้องกันแบะบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ www.sites.google.com/view/dldlsd/home.com

ขณะเดียวกัน วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่รณรงค์ป้องกันโรคลัมปี สกิน” (Lumpy Skin Disease) ณ ฟาร์มโค นายสนธยา โสระเวช หมู่ที่ 3 ต.นาป่าแซง อ.ทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ พร้อมฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ก่อนปล่อยขบวนรถพ่นยาฆ่าเชื้อ และกล่าวว่า โรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ในโค กระบือ ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมป้องกันตั้งแต่เดือนธันวาคม2563 ตลอดจนออกมาตรการเข้มงวดในการเคลื่อนย้ายโค กระบือ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน ดังนั้นเพื่อให้การควบคุม ป้องกัน และยับยั้งโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อคลายความวิตกกังวลของพี่น้องเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้จัดให้มีการรณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

สำหรับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปทุมราชวงศา มีสมาชิก 153 ราย เลี้ยงโค จำนวน 730 ตัว โดยปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปทุมราชวงศา ได้รับอนุมัติเงินกู้จาก ธกส. จำนวน 10 ล้านบาท ตามโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย เพื่อดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงโคอย่างครบวงจร ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงชำแหละโค แต่เนื่องจากมีการระบาดของโรคลัมปีสกินค่อนข้างมาก หากยังมีการระบาดต่อเนื่องจะกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือเป็นอย่างมาก การรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือได้ตระหนักและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในโค กระบือ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *