แนวคิด “เกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)” ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนา “ชาวนาชั้นนำ” ของกรมการข้าว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 โดยการคัดเลือกชาวนาที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตข้าว มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรทั่วไปได้ โดยนำมาต่อยอดผ่านการฝึกอบรมโครงการต่างๆ เกี่ยวกับวิชาชีพการทำนาที่ทันสมัย มีความรู้เกี่ยวกับเอกสาร การบริหารจัดการตัวเองทุกด้าน รวมทั้งนำเกษตรกรไปศึกษาดูงานการพัฒนาการเกษตรทั้งในและต่างประเทศ เมื่อเกษตรกรมีองค์ความรู้ที่ครบถ้วนจนสามารถถ่ายทอดต่อไปได้ เกษตรกรก็จะรับหน้าที่เป็นวิทยากรชาวนาประจำท้องถิ่นและทำการประสานงานระหว่างกรมการข้าวกับชาวนาในพื้นที่ด้านการเผยแพร่องค์ความรู้ ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับข้าวเป็นเตือนภัยเรื่องศัตรูข้าวและภัยธรรมชาติที่มีผลกระทบ รวมทั้งช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในระดับตำบล
“มุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีความเป็นเลิศ และ เกิดการยอมรับของเกษตรกรในพื้นที่ ภายในปี 2568” คือ วิสัยทัศน์ของ “ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช” ที่มุ่งเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราชได้มีการดำเนินงานหลายโครงการ อย่าง “โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง” ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราชได้ให้ความสำคัญ ผลักดันและพัฒนาพี่น้องเกษตรกรให้มีความรู้ครบครัน รอบรู้เรื่องข้าว จนสามารถเพิ่มศักยภาพของที่อยู่ภายใต้ความดูแลได้อย่างดีเยี่ยม นำไปสู่การขยายผลเป็นแปลงการเรียนรู้ของเครือข่ายการพัฒนาการผลิตของกรมการข้าวต่อไป
นางดลตภร โพธิ์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง Smart Farmer ด้านข้าว ทางศูนย์ฯ จะมีการคัดเลือกเกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์ หรือ เกษตรกรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการก็สามารถติดต่อที่ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวใกล้บ้าน หรือ กรมการข้าวได้ โดยเกษตรกรภายใต้โครงการจะต้องผ่านมาตรฐาน มีทั้งหมด 5 ข้อ คือ 1.มีความรู้ในเรื่องที่ทำอยู่ 2.มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ 3.มีการบริหารจัดการผลผลิตและการตลาด 4.มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้า 5.มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และ 6.มีความภาคภูมิใจในการเกษตร ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมจะต้องผ่านเกณฑ์ดังกล่าวอย่างน้อย 1 ข้อ แต่เมื่อเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว ทางศูนย์จะพาเกษตรกรไปอบรมโครงการต่าง ๆ และพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในทุก ๆ ด้าน จนครบเกณฑ์ทุกข้อ แต่สิ่งที่เกษตรกรทุกคนต้องมี คือ เกษตรกรต้องมีความภูมิใจในการประกอบอาชีพทำนา และความภาคภูมิใจในตนเองก่อนเป็นอันดับแรก นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เกษตรกรทุกรายประสบความสำเร็จในการทำนาของตนเองได้
จากการผลักดัน พัฒนาเกษตรกรภายใต้การดูแลของศูนย์ฯ ทำให้เห็นถึงขีดความสามารถของเกษตรกรพื้นที่ในการทำนา สามารถปรับเปลี่ยนการทำนาโดยใช้เทคโนโลยีพื้นบ้านร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และต่อยอดองค์ความรู้สู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน อย่างการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวสาร ขนมไทยพื้นบ้าน อาหารสัตว์ ปุ๋ยหมัก เป็นต้น เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนบนอาชีพเกษตรกรอย่างแท้จริง