นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงการสำรวจสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าข้าวใน จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด แหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวที่สำคัญของประเทศ โดยทีมสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ปีการผลิต 2565/66 ทั้ง 2 จังหวัด มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิ 2.785 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.18 และมีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวเหนียว 1.783 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.17
เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน เพราะราคาอ้อยเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี และบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังและการทำเกษตรผสมผสาน เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่าและดูแลรักษาง่ายกว่า
“แต่ในช่วง ก.ย.-ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นระยะใกล้เก็บเกี่ยว ได้รับผลกระทบจากพายุโนรู ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มติดแม่น้ำชีมีน้ำท่วมขังนาน ทำให้ต้นข้าวล้มและเน่า ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ผลผลิตจึงลดลงจากปีที่ผ่านมา คาดว่าผลผลิตทั้ง 2 จังหวัดจะมี ข้าวหอมมะลิประมาณ 0.904 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.03 ข้าวเหนียวประมาณ 0.605 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.20”
ด้าน นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เดือนผ่านมา ณ ความชื้น 15% พบว่า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาเฉลี่ยตันละ 14,000-15,000 บาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาขึ้นจากตันละ 3,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกเหนียว เกษตรกรขายได้เฉลี่ยตันละ 12,000-13,000 บาท สูงกว่าปีที่แล้วตันละ 3,900-4,800 บาท
“โดยภาพรวมราคาข้าวทั้ง 2 ชนิด ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่เกษตรกรนำไปจำหน่ายให้กับโรงสี เมล็ดข้าวมีความสมบูรณ์ดี มีวัชพืชหรือข้าวพันธุ์อื่นปนน้อยมาก และการที่มีฝนตกตลอดช่วงการเพาะปลูกได้ส่งผลดีต่อเนื่องถึงในช่วงเก็บเกี่ยว เพราะดินยังมีความชุ่มชื้นทำให้เมล็ดข้าวภายในแตกหักน้อย ประกอบกับเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ต่างประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ราคาข้าวเปลือกจึงปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด”