สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การเกษตร (Chinese Academy of Agricultural Science – CAAS) ระบุว่า จีนประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในการส่งเสริมอุตสาหกรรมพืชเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 ของจีน (2016-2020) และสร้างความมั่นคงทางพันธุ์พืชขึ้นมาได้สำเร็จ

ในช่วงเวลาดังกล่าว ทางสถาบันฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์พืชต่างๆ พัฒนาวิธีการเพาะปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างแหล่งทรัพยากรพันธุกรรมพืช

ในปี 2019 จีนมีผลผลิตพืชน้ำมันรวมทะลุ 56 ล้านตัน ทั้งยังมีการปรับปรุงพันธุ์ดอกผักกาดก้านขาว (rapeseed) เพื่อก้าวข้ามมาตรฐานระดับโลกต่างๆ

สถาบันฯ ได้สร้างแหล่งทรัพยากรพันธุกรรมพืชน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งได้เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในประเทศและต่างประเทศไว้มากกว่า 36,000 ชนิด และกลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า (strategic resource) สำหรับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมพืชน้ำมันของจีน

นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังพัฒนาฝ้ายพันธุ์ใหม่ที่มีความต้านทานหลายกลุ่ม (multiple resistance) และผลผลิตคงที่ ซึ่งถูกนำไปปลูกในพื้นที่กว่า 5.33 ล้านเฮกตาร์ (ราว 33.3 ล้านไร่) สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า 1.5 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 7.19 หมื่นล้านบาท)

ในปี 2019 จีนมีพื้นที่ปลูกผักทั้งสิ้น 20.87 ล้านเฮกตาร์ (ราว 130.43 ล้านไร่) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 จากปี 2015 และผลผลิตรวม 721 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 จากปี 2015

ตลอดห้าปีที่ผ่านมา เกษตรกรจีนจำนวนมากได้ขจัดความยากจนด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจ การปลูกผักจึงกลายเป็นตัวเลือกแรกสำหรับพื้นที่ยากไร้หลายแห่ง เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ค่อนข้างสูง

นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แพลตฟอร์มออนไลน์ได้กลายเป็นช่องทางสำคัญสำหรับชาวเมืองในการเลือกซื้อผัก ทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซผักให้เติบโตยิ่งขึ้น

ที่มา สำนักข่าวซินหัว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *