
เกษตรศรีสะเกษพลิกผืนนาปลูก “อินทผาลัม”
ยึดเป็นอาชีพเสริม ขายผลผลิตกก.ละ300บาท
โดย…เสนาะ วรรักษ์
อินทผลัม กำลังกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) โดยมีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและแห้งแบบทะเลทราย ลำต้นมีความสูงประมาณ 30 เมตร มีขนาดลำต้น ประมาณ 30-50 เซนติเมตร ใบเป็นแบบขนนก ผลทรงกลมรี ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ออกเป็นช่อ รสหวานฉ่ำ กินได้ทั้งผลดิบและสุก
อย่างไรก็ตามที่นิยมปลูกกันมากที่สุดในประเทศอิสราเอล และอิหร่าน แต่ในปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรนำเข้ามาปลูกทั่วทุกภาคในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ปลูกแห่งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ แพร่มาตามภาคอีสาน ไล่ตั้งแต่แถบจังหวัดสกลนคร เข้ามาถึงดินแดนข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีเกษตรกรปลูกอินทผลัมกินผลสด และได้ผลดีจนถึงปัจจุบันนี้ ที่สำคัญขายผลผลิตได้สูงถึง กิโลกรัมละ 300 บาทเลยทีเดียว
คุณจอย บุตรดาศรี อายุ 42 ปี ราษฏร์ บ้านกระเต็น ต.ตาโกน อ.เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ เป็นอีกเกษตรสมัยใหม่หันมาปลูกสวนอินทผลัม โดยพลิกผืนนาข้างบ้านมาปลูกต้นอินทผาลัม พันธุ์ “บาร์ฮีใหญ่”ซึ่งปลูกในท่อซีเมนต์ จำนวน 50 ต้น ตั้งแต่ปี 2560 ปรากฎว่าให้ผลผลิตได้เป็นอย่างดีและเตรียมขยายพื้นที่เพราะเพื่อเชิงพาณิชย์ให้มากยิ่งขึ้น

คุณจอย บอกว่า ครอบครัวทำนาไม่พอกินเพราะนามีน้อย ขึงคิดมาปลูกอินทผาลัม โดยซื้อกล้าพันธุ์มาจากจังหวัดเชียงใหม่ ต้นละ 150 บาท อินทผาลัมชอบอากาศร้อน แต่ต้องการน้ำมากพอสมควร
ก่อนให้น้ำก็จะใช้ปุ๋ยคอกโรยรอบๆโคนต้นอินทผาลัม โดยให้น้ำทางสายยางให้ชุ่ม แต่ละต้นใช้เวลาปลูกเป็นเวลา 3 ปี ก็ออกผลพร้อมผลไม้พืชเศรษฐกิจอื่นๆ ในช่วงเดือน มิถุนายน จุดดีของการปลูกอินทผาลัมมีอายุยืนถึง 100 ปี โดยให้ผลผลิตต้นละ 200 กิโลกรัมทีเดียว แต่ละทลายมีน้ำหนัก 5-10 กก ขาย กิโลกรัมละ 300 บาท พันธุ์บาร์ฮีโร ส่วนใหญ่นิยมกินสด มีรสหวานหอมฝาดนิดหน่อย แต่อร่อย
“ปีนี้เพิ่งได้ผลผลิตปีแรก ออกมากถึง 10 ทลาย และกำลังทยอยออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นผลไม้เมืองร้อน เมื่อมีผลสุกต้องเอาพลาสติกมาคลุมเมื่อฝนตกป้องกันน้ำฝนทำลาย เพราะเมื่อถูกน้ำฝน ผลมันจะแตกออกทำให้ผลเน่าเสียหายง่าย ซึ่งผลผลิตออกมาปีแรกส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลาง”

คุณจอย บอกอีกว่า อินทผาลัม เป็นพืชที่ไม่สมบูรณ์เพศ โดยมีตัวเมียและตัวผู้ แยกกันอยู่คนละต้นกัน ดังนั้นในการปลูกเพื่อให้มีการติดผลที่ดี จึงจำเป็นต้องปลูกทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียไว้ในสวน เพราะต้นตัวเมียเท่านั้นที่ให้ผลอินทผาลัม แต่ต้องมี เกษรจากตัวผู้มาผสมด้วย ดังนั้นจึงต้องปลูก อินทผาลัม ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ต้องมีตัวผู้ สายพันธุ์ดี ต้นเดียวต่อต้นตัวเมีย 40- 50 ต้น
ปัจจุบันลูกอินทผาลัมสด กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นจำนวนมากเพราะว่าเป็นผลไม้ใหม่ ตามตลาดไม่ค่อยจะมีวางขาย จึงทำให้ขายดี นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อยู่เมืองไทยแวะมาชมสวน ชิมผลสุกอินทผาลัมและ ซื้อถึงสวนเพื่อนำไปรับประทานที่บ้าน

เกษตรกรที่ต้องการปลูกอินทผาลัม คุณจอย แนะนำว่า อันดับแรกที่ต้องมีคือ รักในการทำเกษตร อินทผลัม เป็นพืชที่ต้องดูแลด้วยหัวใจ เอาใจใส่ด้วยความรัก ปลูกทิ้งขว้างไม่ได้ และอีกประการที่สำคัญคือต้องศึกษาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ว่าเหมาะที่จะปลูกไหม สายพันธุ์ที่นำมาปลูก ตลาดมีความต้องการหรือเปล่า
