200 ปีที่แล้วโลกปฏิวัติทางการเกษตร 100 ปีที่แล้ว ปฏิวัติด้วยอุตสาหกรรม และก็ถึงยุคการปฏิวัติด้วยเทคโนโลยีในวันนี้ ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยี กำลังพลิกโฉมหน้าโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้แต่อาหารที่ล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ก็จะเหมือนเดิมอีกต่อไป วันนี้เราจะนำท่านไปรู้จักกับ เนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ ที่บางคนเรียกว่า เนื้อสัตว์หลอดแก้ว

ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินการผลิตเนื้อสัตว์จากพืช ที่เรียกว่า Plant-based Meat  แต่วันนี้ เนื้อสัตว์หลอดแก้ว กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก ด้วยคุณสมบัติที่เป็นเนื้อจากสัตว์จริงๆ ไม่ใช่จากโปรตีนจากพืช 

“เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง หรือ Cultured Meat เป็นสินค้าใหม่ที่มีการเติบโตสูง ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับเนื้อสัตว์ประเภทนี้ เนื่องจากเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากฟาร์มปกติกำลังจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น” นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผย

 บริษัท AT Kearney ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการระดับโลกของสหรัฐฯ ระบุว่า ประชากรโลกจะเพิ่มจาก 7,600 ล้านคน ในปี 2018 เป็น 10,000 ล้านคน ในปี 2050 ส่งผลให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 56

 ขณะที่ข้อมูล จาก World Resources Institute (WRI) รายงานว่า ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ (ประเภทสัตว์เคี้ยวเอื้อง อาทิ วัว แกะ และแพะ) จะเติบโตสูงถึงร้อยละ 88 ระหว่างปี 2010 ถึง 2050

มาดูกันว่า หากจะผลิตเนื้อสัตว์ให้เพียงพอต่อความต้องการโลก ต้องใช้ทรัพยากรมากมาเท่าใด โดย AT Kearney ระบุว่า หากต้องผลิตเนื้อสัตว์ให้เพียงพอจะต้องเพิ่มผลผลิตภาคเกษตร เพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ โดยต้องมีทุ่งหญ้าพื้นที่ขนาดเท่าประเทศอินเดีย และใช้เนื้อที่ 2 ใน 3 ของพื้นที่เกษตรกรรมโลกเพื่อทำปศุสัตว์

ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และสร้างก๊าซเรือนกระจก (ก๊าซมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์ และไนตรัสออกไซด์) ประมาณร้อยละ 50 ของก๊าซที่เกิดจากการผลิตภาคเกษตรกรรม

 ดังนั้นจากความท้าทายในการผลิตเนื้อสัตว์ และปัญหาการขาดแคลนเนื้อสัตว์ในอนาคต จึงมีความพยายามที่จะคิดค้นนวัตกรรมด้านอาหารต่าง ๆ เช่น การคิดค้นเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง และเนื้อสัตว์เทียมที่ผลิตจากพืช หรือ Plant-based Meat ซึ่งปัจจุบัน มีหลายประเทศได้ให้ความสำคัญในการวิจัยพัฒนาและเริ่มผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงออกมาแล้ว

 สำหรับ “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง” หรือที่หลายคนเรียกว่า “เนื้อหลอดแก้ว” เริ่มรู้จักครั้งแรกในปี 2013 ในรูปแบบเบอร์เกอร์เนื้อ ที่ผลิตโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Maastricht ประเทศเนเธอร์แลนด์ ล่าสุดคาดการณ์ว่าตลาดจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จากในปี 2020 ที่มีมูลค่าตลาด 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (391 ล้านบาท) เป็น 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (489 ล้านบาท) ในปี 2026  ส่วนในประเทศไทย พบว่าล่าสุด บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ Veterinary Stem Cell and Bioengineering Innovation Center (VSCBIC) คณะสัตวแพทยศาสตร์ อยู่ระหว่างวิจัยพัฒนาเนื้อหมูรูปแบบ Cultured Meat เช่นกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *