“กระท่อม” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ คึกคัก ม.สงขลานครินทร์ ตั้งทีมวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ เผยผลทดลองในสัตว์ พบ “กระท่อม” ช่วยแก้โรคซึมเศร้า บรรเทาอาการโรคพาร์กินสัน พร้อมเตรียมต่อยอดวิจัยบำบัดอาการผู้ติดยาเสพติด ยาบ้า และเฮโรอีน

หลังจากกระท่อมถูกปลดจากบัญชียาเสพติด ส่งผลให้ตลาดการค้าขายพันธุ์คักคักอย่างมาก โดยราคาพันธุ์พุ่งไปถึงต้นละ 300-400 บาท แล้วแต่ขนาด ขณะเดียวกันมีข่าวถึงการศึกษาวิจัยพืชกระท่อม เพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้ามากมาย ทั้งเครื่องดื่ม อาหารเสริม และยา

รศ.ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ หนึ่งในทีมศึกษาวิจัยการใช้พืชกระท่อม เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้ใช้เวลากว่า 19 ปี ในการศึกษาวิจัยพืชกระท่อม ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นภาคใต้ มีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยา จากสารไมตรากไจนีน (mitragynine) โดยคนในท้องถิ่นใช้เพื่อ ทำให้ร่างกายพร้อมทำงาน แก้อาการปวดเมื่อย และรักษาโรคท้องร่วง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้มีการวิจัยล่าสุดในสัตว์ทดลอง ผลพบว่า พืชกระท่อมช่วยต้านอาการซึมเศร้า บรรเทาอาการโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของโรคสมองเสื่อมที่มีอัตราการเกิดสูง โดยผลวิจัยดังกล่าวจะเป็นความหวังและโอกาส ที่จะนำพืชกระท่อมไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าได้อีกมาก


สำหรับการวิจัยในหนูทดลอง ที่บ่งชี้ว่าแก้อาการซึมเศร้าได้นั้น วิเคราะห์จากรูปแบบคลื่นสมองของหนูทดลอง และพฤติกรรมของหนู โดยให้หนูทดลองว่ายน้ำ ซึ่งหนูที่ได้รับสารจากพืชกระท่อม จะมีรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบกระฉับกระเฉง ไม่เซื่องซึม หรือหยุดนิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับสารสกัดจากใบกระท่อม โดยระยะต่อไปจะมีการศึกษาในคน

ขณะเดียวกัน ทีมวิจัย ได้ร่วมกับ ทีมงานระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วางแผนทำการศึกษาการใช้กระท่อมเพื่อบำบัดยาเสพติด ยาบ้า และเฮโรอีน โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

สำหรับโครงการนี้จะทำการศึกษา ผู้ที่เคยเสพยาเสพติด และใช้พืชกระท่อมเพื่อบำบัดอาการเสพติด ซึ่งกำหนดพื้นที่การศึกษา ในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ,อ.ห้วยยอด จ.ตรัง และ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง จำนวนอาสาสมัครประมาณ 90 ราย

โดยการวิจัยนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการวิจัยในมนุษย์ตามหลักจริยธรรมการวิจัย เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงใด ๆ ต่ออาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ และจะไม่มีการศึกษาในผู้ที่ไม่เคยใช้พืชกระท่อมมาก่อน

วันนี้พืชกระท่อม ได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย โดยสามารถนำมาใช้ได้อย่างอิสระ มีข้อจำกัดเพียงต้องไม่ใช่เป็นสวนผสมของยาเสพติด และการผลิตเป็นสินค้าในการรับประทานต้องอยู่ในการควบคุมของ อย. และห้ามจำหน่ายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *