
จากสภาวะราคาพาราไม่แน่นอน บางวันปรับตัวขึ้น บางวันตกต่ำอย่างน่าใจหาย เกษตรกรผู้ปลูกสวนยางพารา ควรปรับปรุงระบบการผลิตจากยางพาราจากปลูกพืชเชิงเดียวคงเอาตัวไม่รอด ทางออกที่ดีที่สุดต้องพืชอื่นผสมผสานบ้างเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะพืชที่ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี เช่น สละ มะละกอ ฝรั่ง หรือพืช ที่ให้ผลผลิตเร็ว เช่น พืชผัก พืชไร่ สามารถสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวตลอดทั้งปี
เช่นเดียวกับต.หนองธง อ.ป่าบอน ถือเป็นพื้นที่ปลูกสละรายใหญ่ที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ ประมาณ 3,000 ไร่ และมีการขยายตัวปลูกอย่างต่อเนื่อง และส่วนของการตลาด ยังไม่มีอุปสรรค ซึ่งมีพ่อค้าแม่ค้าทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด มีคำสั่งซื้อ และเข้ามาซื้อในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

พันธุ์สละที่ปลูกมากประกอบด้วย พันธ์เนินวง และราคาซื้อขายหน้าสวนประมาณ 40 บาท / กก. และพันธุ์สุมาลี ราคากิโลกรัมละ 50 บาท / กก. และนอกจากนั้นยังมีการแปรรูปสสะละลอยแก้ว ราคากล่องละ 10 บาท
สำหรับการส่งจำหน่ายสละ สละลอยแก้ว ส่วนใหญ่จะส่งไปจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดในฝั่งทะเลอันดามัน จ.ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง และ จ.ภูเก็ต รวมทั้งในจังหวัดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตลอด จ.สงขลา
อย่างไรก็ตาม นายประเจือบ มลยงค์ กำนันตำบลหนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง บอกว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกสละ กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในการปลูกสละ และปลูกไม้ผล โดยเฉพาะสละนั้น จะต้องใช้น้ำประมาณต้นละ 200 ลิตร / วัน จึงขอเรียกได้เร่งแก้ปัญหาด้วย
โดยเฉพาะการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว เพื่อนำน้ำมาแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร และการเลี้ยงสัตว์ในช่วงหน้าแล้งของพื้นที่ ต.หนองธง เป็นเรื่องสำคัญที่กรมชลประทาน จะต้องเดินหน้าดำเนินงานโครงการอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง

ด้านนายบุญลาย พรหมช่วย อายุ 49 ปี เกษตรกรในพื้นที่หมู่ที่ 5 ต.หนองธง อ.ป่าบอน กล่าวว่า จากสภาพความแห้งแล้งต่อเนื่องมาร่วมเดือน ทำให้พืชผลที่ปลูกไม่ว่าจะเป็นสวนมะนาว ทุเรียน เริ่มเฉาตาย โดยเฉพาะสละพันธ์สุมาลี ที่กำลังให้ผลผลิต จำนวน 9 ไร่ ล่าสุด ไม่มีน้ำรด น้ำในสระที่ขุดไว้เพื่อสำรองก็แห้งขอด ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนกันทั่วหน้า เช่นเดียวกับเกษตรกรรายอื่นๆ อีกหลายหมู่บ้านของ ต.หนองธง อ ป่าบอน ที่ทำสวนสละกว่า 2,000 ไร่ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน หากสภาวะภัยแล้งยังมีต่อเนื่องไปอีก 1 เดือน เชื่อว่าสละต้องตายหมดยกสวน
ขณะที่ นางคิ่น พริกแก้ว อายุ 63 ปี เกษตรกรในพื้นที่ หมู่ 5 ต หนองธง อ.ป่าบอน ซึ่งทำการเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่ 11 ไร่ โดยพืชผลที่ปลูกมีทั้งสละ กล้วย พืชระยะสั้น ทุเรียน และมังคุด ก็ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก สระน้ำที่ขุดไว้ลึกจากผิวดินประมาณ 5 เมตร น้ำเริ่มแห้งขอด จึงว่าจ้างรถแบ็กโฮมาขุดเพิ่ม ล่าสุด รถแบ็กโฮขุดจากหน้าดินลึกไปกว่า 10 เมตร ก็ยังไม่เจอน้ำ หากฝนไม่ตกหรือไม่มีน้ำมาเติมสวนผสมผสานก็จะต้องเฉาตายหมด ชาวบ้านต้องประสบปัญหาไม่มีรายได้จุนเจือครอบครัว หนำซ้ำราคายางพาราที่เป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในพื้นที่ก็ตกต่ำลงต่อเนื่อง
ปัจจุบันแหล่งน้ำต้นทุนจากเทือกเขาบรรทัดที่ไหลผ่านน้ำตกโตนสะตอ ยังมีเพียงพอ หากแต่ทาง อบต.กลับไปก่อสร้างท่อส่งน้ำผิดแบบ โดยใช้ท่อขนาด 4 นิ้วเชื่อมต่อจากประตูน้ำที่รับผิดชอบโดยกรมชลประทาน ก่อนจะมาเชื่อมต่อท่อขนาด 6 นิ้ว เพื่อส่งต่อน้ำลงในแหล่งกักเก็บน้ำของหมู่บ้าน ทำให้น้ำที่ลงมามีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากพืชสละเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก เฉลี่ยที่ 200 ลิตรต่อกอ ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบลงพื้นที่แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน ที่มีต้นทุนกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง ที่อยู่ติดกับตำบลหนองธง และตำบลทุ่งนารี มีน้ำกักเก็บอยู่เพียงพอ ชลประทานสร้างไว้แต่ไม่ยอมผันน้ำหรือต่อท่อน้ำลงมาใช้ในพื้นที่ ต.หนองธง ทำให้การบริหารจัดการน้ำของชาวบ้านไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค
หากไม่เจอภัยแล้งเกษตรกรสามารถทำรายได้ให้กับครอบครัวเดือนละแสนกว่าบาท และสามารถแก้ปัญหาราคายางตกต่ำขณะนี้สละหนองธงชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นที่สนใจของชาวมาเลเซีย เนื่องจากสลมีรสหวานหอมรสชาติจะอร่อยกว่าที่อื่นจนผลิตไม่พอขาย แม่ค้าต้องสั่งจองล่วงหน้ากันมา