* ก.เกษตรและสหกรณ์เข้าประชุมออนไลน์ทางไกลกับรมว.เกษตรทั่วโลกอีก 97 ประเทศ

* คุยกันบนโจทย์ที่ว่าจะป้อนอาหารให้กับคนทั้งโลกได้อย่างไร กับภาวะการแพร่ระบาดไวรัส

* ไทยโชว์วิสัยทัศน์รวม 6 ข้อ ที่จะทำการเกษตรคู่ไปกับการรับมือ Climate Change

* พร้อมกับจะดันให้เกิดสมาร์ทฟาร์มเมอร์อย่างจริงจัง

สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าประชุมออนไลน์ ระดับรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 13 หรือ 13th Berlin Agriculture Ministers’ Conference การประชุมนี้มีความสำคัญต่อวงจรเกษตรทั่วโลกอย่างมาก เพราะจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางของความร่วมมือจากภาคเกษตรทั่วโลก เพื่อวางระบบและติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับพิชผล ผลผลิตทางการเกษตร ที่จะส่งผลต่อปากท้องของคนทั้งโลก

ประเทศไทยเข้าร่วมประชุมการเกษตรครั้งสำคัญระดับโลก โดยปีนี้ยังคงพุ่งเป้าประเด็นการประชุมมายังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อสังเคราะห์กันว่าจะมีทางออกอย่างไรต่อการป้อนอาหารให้กับคนทั้งโลก รวมไปถึงผลพวงของการทำการเกษตรที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รัฐมนตรีเกษตรจาก 97 ประเทศ พ่วงด้วยผู้บริหารจาก 14 องค์กรระหว่างประเทศ ร่วมหารือกันในวงประชุมออนไลน์ครั้งนี้ และนอกไปจากประเด็นในข้างต้น ยังมีการหารือและผนึกนโยบายร่วมกันเพื่อให้ภาคเกษตรสามารถฟื้นฟูได้จากผลกระทบของโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

แต่คำถามตัวโตๆ คือ ประเทศไทยเอาอะไรไปประชุมกับเขา และเราหวังจะมีส่วนร่วมอย่างไรต่อภาคการเกษตรระดับโลกที่ต้องร่วมขบวนไปด้วยกัน

หน้าที่การประชุมถูกมอบให้กับนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทำหน้าที่แทนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนายนราพัฒน์ได้แสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อย่อย “Adaptation to Climate Change” หรือการปรับตัวของภาคเกษตรไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เหตุผลสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอฉายวิสัยทัศน์ให้โลกเห็นการเกษตรไทยในประเด็นนี้ เพราะตระหนักถึงความสำคัญในหัวข้อนี้ เพราะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและเกษตรกรในทุกระดับ โดยไทยโชว์วิสัยทัศน์ 6 ด้านกับเรื่องการปรับตัวของภาคการเกษตรภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ

1.บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ กระจายน้ำอย่างเหมาะสมและทั่วถึง พัฒนาแหล่งน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร รวมทั้งป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย

2.บริหารจัดการดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีการวิเคราะห์ดิน ใช้ที่ดินอย่างเป็นระบบ ใช้ระบบ Agri-map เพื่อปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่

3.จัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัดเพื่อการบริหารจัดการความมั่นคงอาหารในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ ภาครัฐจะใช้ข้อมูล Big Data เพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว

4.ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน โดยดำเนินระบบเกษตร ได้แก่ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ และวนเกษตร  ด้วยการลด ละ เลิก การใช้สารเคมี

5.ส่งเสริม Smart Farmer และสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ของแต่ละจังหวัด เพื่อยกระดับสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ และเกษตรแบบแม่นยำ

6.ร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อดำเนินโครงการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร เพื่อเพิ่มการฟื้นตัวและความยั่งยืนในพื้นที่สูง

จาก 6 วิสัยทัศน์ที่ได้โชว์ทั้งโลก จะเห็นได้ว่า ภาคเกษตรในประเทศไทย รวมไปถึงการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรของไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพุ่งไปยังเรื่องของเทคโนโลยีที่จะต้องสร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์ในบ้านเราให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง แต่ขณะเดียวกันการใช้เทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์การเกษตร ก็ต้องคู่ไปกับการใส่ใจเรื่องของสภาพแวดล้อม

นายนราพัฒน์ กล่าวกับที่ประชุมว่า ประเทศไทยร่วมรับรองแถลงการณ์ (Communique) สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 13 เน้นย้ำผลข้อหารือด้านนโยบายระบบอาหารไปขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติจริง ผ่านการทำงานร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN) และเวทีความร่วมมือในกรอบพหุภาคีต่างๆ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหาร และนำไปจัดทำนโยบายและกิจกรรมเพื่อรายงานในการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลกในช่วงปลายปี

#เกษตรกรไทย #สมาร์ทฟาร์ม #สมาร์ทฟาร์เมอร์#thaismartfarmer

—- เกษตรกรสมาร์ทๆ กับ ThaiSmartFarmer—–

ติดตามข่าวสารดีๆ แวดวงการเกษตรไทย และระดับโลกได้ที่

https://thaismartfarmer.com/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *